Skip links

ประวัติวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี

อยู่ในตำบลรั้วใหญ่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณบุรี ถนนสมภารคงแยกจากถนนมาลัยแมน ไปประมาณ 300 เมตรในสมัยก่อนเป็นศูนย์กลางของเมืองสุพรรณภูมิ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 600 ปี ปรางค์องค์ประธาน เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2456 ชาวบ้านลักลอบขุดค้นหาทรัพย์สินจนทรุดโทรมไปมาก พระพิมพ์ผงสุพรรณบุรีที่โด่งดังมาก อันเป็นหนึ่งใน “เบญจภาคี” ก็ได้ไปจากกรุในองค์พระปรางค์นี้ และพระเครื่องที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพระผงสุพรรณ เช่น พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระสุพรรณยอดโถ พระสุพรรณหลังผาน ตลอดจนพระเนื้อชินต่างๆ ซึ่งปัจจุบันหายาก นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นศิลปะการก่อสร้าง ในสมัยอู่ทองสุพรรณภูมิ เพราะหลักฐานการก่อสร้าง เป็นการก่ออิฐไม่ถือปูน ซึ่งเป็นวิธีการเก่าแก่ก่อนสมัยอยุธยา
เดิมเป็นวัดสำคัญของเมืองโบราณสุพรรณบุรีมาตั้งแต่สมัยอยุทธยาตอนต้น ก่อนถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ก่อนถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อพุทธศักราช 2310 จากนั้นจึงมีการบูรณปฎิสังขรณ์ใหม่ อีกครั้ง ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ประวัติการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ปรากฎในจารึกบนแผ่นลานทองที่พบจากกรุพระปรางค์ และยอดนภศูล เมื่อพุทธศักราช 2456 ข้อความในจารึกระบุถึงการสร้างพระสถูป (องค์พระปรางค์) ของพระมหากษัตริย์ และการปฎิสังขรณ์ โดยพระราชโอรสในสมัยต่อมา ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้าง อาจหมายถึงสมเด็จพระนครินทราธิราช หรืออาจหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่2 (เจ้าสามพระยา) จึงนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี สถาปนาขึ้นช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20) ระหว่างรัชกาลใดรัชกาลหนึ่ง

แผนผังสถาปัตยกรรม ประกอบไปด้วย เจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธานของวัด ด้านข้างมีปีกปรางค์หรือปรางค์ขนาดเล็กขนาบปรางค์ประธานทั้งสองข้าง ทำระเบียงคตล้อมอยู่โดยรอบ ด้านนอกระเบียงคตมีวิหารหลวงอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก และอุโบสถอยู่ด้านหลังทางทิศตะวันตก โดยสร้างอยู่แนวเดียวกับปรางค์ประธาน ตามความนิยมในสมัยกรุงศรีอยธยาตอนต้น นอกระเบียงคตยังมีวิหารราย และเจดีย์รายอีกหลายองค์รายล้อมอยู่โดยรอบ

กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี เป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3710 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หลังจากนั้นได้มีการดำเนินงานขุดศึกษาโบราณคดี และบูรณะโบราณสถานบางส่วนเป็นระยะ และปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์จนแล้วเสร็จ เมื่อพุทธศักราช 2562

ที่มาข้อมูล: สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี

This website uses cookies to improve your web experience.
Home
Account
Cart
Search